ลอบชำแหละ ซากเสือโคร่ง อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ คาดเตรียมส่งขายนายทุน

ลอบชำแหละ ซากเสือโคร่ง อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ คาดเตรียมส่งขายนายทุน

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ลาดตระเวนพบ พรานป่า ลอบชำแหละ ซากเสือโคร่ง 2 ตัว รอดจับกุมหวุดหวิด คาดเตรียมส่งขายนายทุน เวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สายตรวจ อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ออกลาดตระเวนพบกลุ่มพรานป่า ขณะกำลังลักลอบชำแหละซากเสือโคร่ง 2 ตัว กลางป่าลึก บริเวณป่าห้วยปิล๊อก หมู่ที่ 4 ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ห่างจากในเขตชายแดนไทย-พม่า ประมาณ 3-4 กิโลเมตร

โดยการออกลาดตระเวนครั้งนี้เพื่อตรวจสอบและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี 

เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน ระหว่างวันที่ 8-11 มกราคม 2565 หลังได้รับแจ้งจากสายข่าวว่าจะมีกลุ่มบุคคลเข้าไปลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ใกล้ชายแดนไทย-พม่า

ในที่เกิดเหตุได้ตรวจพบแคร่ร้านย่างเนื้อสัตว์ และซากเสือโคร่ง จำนวน 2 ตัว สันนิษฐานว่าเป็นเสือโคร่ง ออกหากินระหว่างชายแดนไทย – พม่า พร้อมอาวุธปืน จำนวน 4 กระบอก และอุปกรณ์การกระทำผิดอื่น ๆ รวม 29 รายการ โดยขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามเข้าจับกุม ปรากฎ หมานำทาง ได้ส่งเสียงร้องเห่าขึ้นก่อน ทำให้กลุ่มชายทั้ง 5 คน วิ่งหลบหนีเข้าไปในป่า รอดพ้นการจับกุมตัวไปได้อย่างหวุดหวิด

อย่างไรก็ตามได้มีการตรวจยึดของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ปิล๊อก เพื่อดำเนินคดีและสืบสวนสอบสวน ล่าตัวตัวผู้กระทำผิดต่อไป โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบาย “ทส.หนึ่งเดียว” และ “ทส.ยกกำลัง X” ของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้อสั่งการ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ดำเนินการ ป้องกันและปราบปราม การบุกรุกทำลายป่าและล่าสัตว์ป่า อย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้คาดว่าซากเสือโคร่งดังกล่าว กลุ่มคนร้ายทำการชำแหละไว้ ก่อนจะส่งตัวให้กลุ่มนายทุนที่ต้องการนำไปประดับบารมี ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย โดยจากนี้เจ้าหน้าที่จะเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลผืนป่าเพื่อปกป้องสัตว์ต่อไป

สำหรับ อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่รับผิดชอบ เนื้อที่ทั้งหมด 772,214 ไร่ มีแนวเขตด้านตะวันตกติดชายแดนพม่าระยะทาง 152 กิโลเมตร

ปลัด สธ. แจง 3 ปัจจัย ทำไมโควิดเป็นโรคประจำถิ่นได้

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แจง โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่นได้ เมื่อความรุนแรงของโรคลดลง ประชาชนมีภูมิต้านทานจำนวนมาก และระบบบริหารจัดการดูแลมีประสิทธิภาพ ขอความร่วมมือฉีดวัคซีน โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น ป้องกันตนเองเคร่งครัด สถานประกอบการเข้ม COVID Free Setting ตรวจ ATK เป็นประจำ หากติดเชื้อเข้าระบบดูแลรักษาที่บ้าน มีทีมบุคลากรสาธารณสุขติดตามอาการต่อเนื่อง ไม่ต้องกังวล

วานนี้ (12 มกราคม 2565) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยเริ่มทรงตัว หลังจากมีการติดเชื้อสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ภายในปี 2565 นี้ โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัย คือ 1.ตัวเชื้อโรคมีความรุนแรงลดลงซึ่งสอดคล้องกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในขณะนี้ ที่เชื้อมีความรุนแรงลดลง เห็นได้จากแม้จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตมีทิศทางลดลง 2.ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อโรคมากขึ้น และ 3.ระบบบริหารจัดการ การดูแลรักษา ที่มีประสิทธิภาพ และควบคุมการระบาดได้ดี ทั้งนี้ การที่โรคโควิด 19 จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงสาธารณสุขจะพยายามชะลอการระบาดของโรค พร้อมไปกับการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้กับประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน จึงขอให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและผู้ที่ถึงกำหนดรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ติดต่อขอรับวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด และขอให้ยังคงเคร่งครัดมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ใส่หน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง ตรวจคัดกรองด้วย ATK เมื่อมีความเสี่ยง ส่วนสถานประกอบการต้องเข้มการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting

“ที่สำคัญคือต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อครั้งนี้โรคโควิด 19 เปลี่ยนไปจากเดิม มีความรุนแรงลดลง ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก รูปแบบการดูแลรักษาจึงต่างจากการระบาดระลอกก่อน โดยเปลี่ยนมาใช้การดูแลที่บ้าน (Home Isolation) หรือในชุมชน (Community Isolation) เป็นลำดับแรก มียา เวชภัณฑ์ มีทีมบุคลากรสาธารณสุขติดตามอาการต่อเนื่อง และมีการเตรียมเตียงในโรงพยาบาลไว้รองรับหากอาการมากขึ้นพร้อมส่งต่อทันที จึงวางใจได้ว่าหากติดเชื้อก็ยังได้รับการดูแลตามมาตรฐานเช่นเดิม” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า สำหรับการระบาดของโรคติดต่อ มี 4 ระดับ ได้แก่ 1. โรคประจำถิ่น (Endemic) คือ โรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่ อาจเป็นเมือง ประเทศ กลุ่มประเทศ หรือทวีป มีอัตราป่วยคงที่และคาดการณ์ได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออกในประเทศไทย 2.การระบาด (Outbreak) คือ เหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติ ทั้งกรณีโรคประจำถิ่นที่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าที่คาดการณ์ หรือกรณีที่เกิดโรคอุบัติใหม่ 3.โรคระบาด (Epidemic) คือ มีการแพร่กระจายโรคกว้างขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์อย่างฉับพลัน จำนวนผู้ติดเชื้อเกินกว่าที่คาดการณ์ได้ และ4.การระบาดใหญ่ (Pandemic) คือ ระดับการระบาดที่แพร่ไปทั่วโลก เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และล่าสุดคือการระบาดของโรคโควิด 19